อ้างเป็นสมาชิกยูเอ็นเพียงรายเดียวของโลก สร้างความน่าเชื่อถือ หลอกว่ามีเงินหมุนเวียนนับล้านบาท ให้เงินเกษตรกร ข้าราชการ และนักธุรกิจ รายละ ๑-๑๕ ล้านบาท มีผู้หลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิกกว่า ๖๐,๐๐๐ ราย
จากกรณีเพจสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ออกมาเตือนภัยเกษตรกรระวังถูกหลอกลวงจากระบบเงินยูเอ็น ด้วยมีบริษัทอ้างเป็นสมาชิกยูเอ็นเพียงรายเดียวของโลก ในนามบริษัท เกศกัญญาฟาร์ม จำกัด ซึ่งอ้างว่ามีเงินหมุนเวียนนับล้านบาทให้เงินแก่เกษตรกร ข้าราชการ และนักธุรกิจ รายละ ๑-๑๕ ล้านบาท ซึ่งมีประชาชนทั่วประเทศต่างหลงเชื่อ สมัครเป็นสมาชิกบริษัทดังกล่าวแล้วกว่า ๖๐,๐๐๐ ราย โดยหลอกให้ประชาชนนำบัตรประจำตัวประชาชน และสมุดบัญชีธนาคารมาลงทะเบียน เพื่อขอรับการช่วยเหลือ
เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ออกเอกสารแจ้งเตือนผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เกี่ยวกับพฤติกรรมการหลอกลวงให้ราษฎรปลูกอินทผาลัม จำนวน ๑ ฉบับ เนื่องจากปัจจุบันยังคงตรวจพบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมหลอกลวงราษฎรในส่วนภูมิภาค ลักษณะชักชวนให้ปลูกอินทผาลัม โดยจะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์อินทผาลัมให้ราษฎรว่าจะซื้อผลผลิตกลับคืนในราคาที่สูง ซึ่งเป็นรูปแบบพฤติกรรมของขบวนการเหล่านี้ คือ มีการจัดตั้งแกนนำและเครือข่าย ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมสมาชิกให้ได้จำนวนมาก อธิบายรายละเอียดโครงการฯ ในเบื้องต้น และโน้มน้าวให้ประชาชนเข้ามาร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง โดยมีการโฆษณาแอบอ้าง องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อถือว่ามิได้เป็นการหลอกลวง มีรูปแบบการดำเนินการในนามวิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีสำนักงานที่ตั้งจริงในพื้นที่ ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวนมากถึง ๑,๐๐๐ ล้านบาท จากองค์การสหประชาชาติ (UN) หรือโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) เพื่อให้นำเงินมาช่วยเหลือราษฎรในรูปแบบโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโครงการส่งเสริมการปลูกอินทผาลัม และยังมีวิธีการโน้มน้าวจิตใจด้วยผลตอบแทนสูง อาทิ หากสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มฯ แล้ว จะมอบเงินให้ ๑.๕ ล้านบาท ต่อราย เพื่อไปปลูกอินทผาลัม โดยจะมีการโอนเงินให้ ๒ งวด งวดแรก ๓๐๐,๐๐๐ บาท งวดที่ ๒ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่จะหักเงินเข้าส่วนกลาง ๕๗,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าต้นกล้าพันธุ์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
อย่างไรก็ตาม ขบวนการเหล่านี้ มิได้ให้ข้อมูลห้วงเวลาที่ชัดเจนว่าจะมีการโอนเงินให้เมื่อใด โดยจะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อยู่ระหว่างทดสอบระบบของฝ่ายการเงิน UN กับธนาคารพาณิชย์ที่จะเป็นหน่วยงานผู้โอนเงิน หรืออยู่ระหว่างดำเนินการของกรมพิธีการทูต กระทรวงการต่างประเทศ หรือเมื่อเพาะปลูกเสร็จแล้ว จะรับซื้อผลอินทผาลัมในราคา ๓๐๐ บาท/กิโลกรัม หรือรับซื้อต้นกล้าพันธุ์ในราคาสูง หรือจะเป็นการสมัครเป็นสมาชิกฯ เพื่อได้รับเงินนี้ใช้เพียงหลักฐานประจำตัว คือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัญชีเงินฝาก แต่ต้องเสียค่าสมัครสมาชิกฯ หรือค่าใช้จ่ายอื่นในเบื้องต้นประมาณ ๑๐๐-๕๐๐ บาท เป็นต้น
ขณะที่ นายประยูร รัตนเสนีย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย เห็นว่าเพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากขบวนการหลอกลวงข้างต้น จึงขอให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดดำเนินการตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์หลอกลวงราษฎรรูปแบบนี้ในพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ หากตรวจพบความเสียหาย ให้รวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายให้นายอำเภอ รวมถึงกลไกทางราชการอื่น อาทิ เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนราษฎรให้ระมัดระวังการหลอกลวงรูปแบบดังกล่าว รวมถึงการพิจารณาใช้กลไก คณะกรรการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอเพื่อกำหนดแนวทางป้องกันปัญหาหลอกลวงลักษณะนี้ในระยะยาว
หากพบกรณีการแอบอ้างดังกล่าว ให้แจ้งทางเทศบาลเมืองปรกฟ่้าทราบทันที ทางหมายเลขโทรศัพท์ 038-167062-4 ต่อ 119
ด้วยความปราถนาดีจาก..งานนิติการ กองวิชาการและแผนงาน