ตั้งแต่ต้นปีหน้านี้ พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 (พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้เริ่มบังคับใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 และกำหนดว่า จะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยจะมาแทนที่การจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจะถูกยกเลิกไป
แต่เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงมหาดไทยประกาศขยายระยะเวลาการดำเนินการที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เฉพาะในปี 2563 เช่น เลื่อนการแจ้งประเมินภาษีจากเดือนกุมภาพันธ์เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2563 และเลื่อนการชำระภาษีจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ฯลฯ สาเหตุเพราะปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง (กฎหมายลูก) ใน พ.ร.บ. นี้ราว 8 ฉบับ ที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังรับผิดชอบยังไม่เรียบร้อย เลยต้องเลื่อนกำหนดต่างๆ ออกไป
ภาษี พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2562 ที่เริ่มใช้ในปี 2563
ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผู้เสียภาษี ได้แก่ ผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างทุกคน ณ วันที่ 1 มกราคม 2563 (มีชื่อเป็นเจ้าของในโฉนดหรือสิ่งปลูกสร้าง) โดยจะเก็บภาษีตามมูลค่าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถือครอง และอัตราภาษีขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบ่งเป็น 4 ประเภท
1. เกษตรกรรม
2. ที่อยู่อาศัย
3. อื่นๆ ที่ไม่ใช่เกษตรกรรมและอยู่อาศัย
4. ที่รกร้างว่างเปล่า
ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีต้องเสียภาษีทุกปี และต้องชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ เหมือนกับการชำระภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งถูกยกเลิกไป (ยกเว้นปี 2563 สามารถชำระภาษีได้ถึงเดือนสิงหาคม)
อย่างไรก็ตาม มูลค่าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งห้องชุด จะใช้ ‘ราคาประเมินทุนทรัพย์’ (ราคาประเมินฯ) ของกรมธนารักษ์มาใช้ ส่วนปี 2563 นี้ใช้บัญชีราคาประเมินฯ ปี 2559-2562 มาใช้ ขณะเดียวกันภาษีที่ดินฯ จะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา (ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพื่อนำไปใช้พัฒนาท้องถิ่น
ใครไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตัวใหม่?
พ.ร.บ. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินสูงสุด และเป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเมื่อเริ่มใช้อาจทำให้ผู้ที่ถือที่ดินไว้จำนวนมากต้องปรับตัวให้เข้ากับอัตราภาษีใหม่นี้ อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่ต้องการมีบ้านเพื่ออยู่อาศัย ภาครัฐจึงจะสนับสนุน โดยกรณีที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ได้แก่
1. บ้านหลังหลัก 1 หลัง
ในกรณีที่บุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินมีชื่อในทะเบียนบ้านในวันที่ 1 มกราคม 2563 และบ้านมีมูลค่าที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
ในกรณีที่เป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้าน (สิ่งปลูกสร้าง) ตัวบ้านมูลค่าที่ไม่เกิน 10 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี
ทั้งนี้ กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลธรรมดามีชื่อเป็นเจ้าของ แต่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและไม่ได้นำไปให้เช่า จะถือเป็นบ้านหลังอื่น ซึ่งต้องเสียภาษีตามปกติ
2. ที่ดินเกษตรกรรมของบุคคลธรรมดา
ไม่ต้องเสียภาษีใน 3 ปีแรก (ปี 2563-2565)
ปีที่ 4 เป็นต้นไป (2566) ได้รับการยกเว้นภาษีในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท เป็นถาวร
3. ทรัพย์สินของรัฐที่ไม่ได้หาผลประโยชน์ ทรัพย์ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ (รัฐ / เอกชน)
4. สหประชาชาติ สถานทูต
5. ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ที่ดินสาธารณูปโภคหมู่บ้านจัดสรรและนิคมอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ การบรรเทาภาระภาษี ผู้ที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงท้องที่ และต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากกฎหมายนี้จะได้บรรเทาภาระภาษีของส่วนต่าง เมื่อเทียบกับภาษีที่เคยเสียในปี 2562 ดังนี้
– ปีที่ 1: ภาษีเดิมปี 2562 + 25% ของส่วนต่าง
– ปีที่ 2: ภาษีเดิมปี 2562 + 50% ของส่วนต่าง
– ปีที่ 3: ภาษีเดิมปี 2562 + 75% ของส่วนต่าง
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเสียภาษี 1. ผู้เสียภาษีต้องตรวจสอบบัญชีรายการที่ดินของตนเองให้ถูกต้อง (หากไม่ถูกต้อง สามารถยื่นเรื่องแก้ไขได้) 2. ตรวจสอบพื้นที่แบบประเมิน และ 3. ต้องจ่ายภาษีให้ตรงเวลา
สุดท้ายแม้จะเลื่อนระยะเวลาการใช้ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและส่ิงปลูกสร้างออกไป แต่ภาครัฐยังมีความหวังในการปฏิรูปภาษีอย่างต่อเนื่อง ต้นปีหน้าจะเห็นความชัดเจนกันแล้วค่ะ
อ้างอิง:
www.fpo.go.th/main/getattachment/General-information-public-service/ประชาชนควรรู้/ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/Land-Building-taxnew-(1).pdf.aspx?lang=th-TH
www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/030/T_0021.PDF