กำหนดการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ประจำปี 2562

ภาษีบำรุงท้องที่ คือ ภาษีที่จัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ที่เป็นของบุคคลหรือคณะบุคคลไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิทธิครอบครองอยู่ในที่ดินที่ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนที่ดินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายนี้ “ที่ดิน” หมายถึง พื้นที่ดินและให้หมายความรวมถึง พื้นที่  ที่เป็นภูเขา หรือที่มีน้ำด้วย

การยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีบำรุงท้องที่

  • ยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.บ.ท.5) ภายในเดือน มกราคม ทุกรอบระยะเวลา 4 ปี
  • บุคคลใดเป็นเจ้าของที่ดินใหม่ให้เจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการ(ภ.บ.ท.5)ต่อเจ้าพนักงานประเมิน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือจำนวนที่ดินมีการเปลี่ยนแปลง
  • ชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ ภายในเดือน เมษายน ของทุกปี

การลดหย่อนภาษีบำรุงท้องที่ ที่ดินในเขตเทศบาลเมืองปรกฟ้า ได้ไม่เกิน  1  ไร่ 

  • ที่ดินแปลงที่เจ้าของปลูกบ้านอยู่อาศัย โดยไม่ทำการค้าหรือให้เช่าแต่อย่างใด ลดหย่อนได้ 1 ไร่  ส่วนที่เกินต้องเสียภาษีตามอัตราที่กำหนด
  • ที่ดินเจ้าของปลูกบ้านให้เช่า หรือปลูกบ้านเพื่อทำการค้าและได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแล้ว

จะได้รับการยกเว้นภาษีบำรุงท้องที่ในอาคารนั้นตั้งอยู่

  • ที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ทำประโยชน์จะต้องเสียภาษีเป็นสองเท่าของอัตราปกติ

หลักฐานประกอบการยื่นเสียภาษีบำรุงท้องที่

  1. ใบเสร็จรับเงินปีที่ผ่านมา
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. สำเนาโฉนด/นส.3 (เอกสารสิทธิ์ในที่ดิน)
  4. แบบแสดงรายการ(ภ.บ.ท.5)

ไม่ชำระค่าภาษีบำรุงท้องที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าของที่ดินต้องเสียเงินเพิ่มในกรณีและอัตรา ดังต่อไปนี้

  • ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน(ภ.บ.ท.5)ภายในกำหนดให้เสียเงินเพิ่มอีก 10% ของค่าภาษี
  • ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีลดลง ให้เสียเงินเพิ่ม 10% ของค่าภาษีที่ประเมินเพิ่มเติม
  • ชี้เขต แจ้งจำนวนเนื้อที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีลดลง ให้เสียเงินเพิ่มอีก หนึ่งเท่า ของค่าภาษีที่ประเมินเพิ่มเติม
  • ไม่ชำระภาษีภายในกำหนด(เดือนเมษายน)ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปีของค่าภาษี (2% ต่อเดือน)

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน  หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดินที่มิได้ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างนั้นๆ ที่ใช้ประกอบกิจการเพื่อหาผลประโยชน์

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

  1. เจ้าของทรัพย์สิน
  2. เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างและเจ้าของที่ดินเป็นคนละคน เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูก สร้างมีหน้าที่เสียภาษี  
  3. ผู้ครอบครองทรัพย์สิน ทายาท หรือผู้จัดการมรดก
    ขั้นตอนการยื่นแบบชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน
  • เจ้าของทรัพย์สินยื่นแบบพิมพ์(ภ.ร.ด.2)ได้ที่สำนักงานเทศบาลเมืองปรกฟ้า ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
  • ยื่นแบบแสดงรายการและชำระทันที หรือภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
  • กรณีทรัพย์สินไม่มีผู้เช่าให้แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน ของเดือนที่ทรัพย์สินนั้นว่างลง

อัตราค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ผู้รับประเมินต้องชำระภาษีปีละครั้ง ในอัตราร้อยละ 12.50 ของค่ารายปี (ค่าเช่า)
ไม่ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินจะต้องเสียเงินเพิ่ม  ดังนี้

      • ถ้าค้างชำระไม่เกิน 1 เดือนนับแต่วันพ้นกำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ5 ของค่าภาษีที่ค้างชำระ
      • ถ้าค้างชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือนให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีที่ค้างชำระ
      • ถ้าค้างชำระเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือนให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีที่ค้างชำระ 
      • ถ้าค้างชำระเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือนให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของค่าภาษีที่ค้างชำระ
        ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5)พ.ศ.2543 มาตรา 44 กำหนดว่า”ถ้ามิได้มีการชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มภายใน 4 เดือน ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ ยึด อายัด หรือขายทอดตลาด ทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษี เพื่อนำเงินมาเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย โดยมิต้องขอให้ศาลสั่ง หรือออกหมายยึด”

ภาษีป้ายเป็นภาษีที่เก็บจากป้าย หมายถึง ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือ เครื่องหมายที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจกรรมอื่นเพื่อหารายได้ไม่ว่าจะแสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆด้วยอักษรภาพหรือเครื่องหมายที่เขียน แกะ สลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นๆ

ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีป้าย

  1. เจ้าของป้าย
  2. ผู้ครอบครองป้าย/ผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้งหรือแสดงอยู่

ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย

  • ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) ตั้งแต่วันที่1 มกราคม ถึง มีนาคม ของทุกปี
  • ยื่นแบบและชำระทันที หรือ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
  • กรณีติดตั้งป้ายใหม่ หลังเดือนมีนาคม ให้ยื่นแบบแสดงรายการ (ภป.1) ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ติดตั้ง

ไม่ชำระภาษีป้ายภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้เป็นเจ้าของป้ายรายใดไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มนอกจากเงินที่เสียภาษีป้ายในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้

  • ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) ภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่ม 10%ของค่าภาษี
  • ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่ม 10% ของค่าภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม
  • ไม่ชำระภาษีป้ายภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่ม 2% ต่อเดือนของค่าภาษี
Message us